มวยไทย ศิลปะการต่อสู้

Ads Here

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

The history of Muay Thai



สมัยกรุงสุโขทัย
สมัยกรุงสุโขทัย มวยไทยถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้กษัตริย์เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีเยี่ยม ดังความปรากฏตามพงศาวดารว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงส่งเจ้าชายร่วงโอรสองค์ที่สองไปฝึกมวยไทยที่สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี หรือการที่พ่อขุนรามคำแหงทรงนิพนธ์ตำหรับพิชัยสงคราม โดยมีความข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทย ควบคู่ไปกับการใช้อาวุธอย่างดาบ หอก มีด โล่ หรือธนูอีกด้วย

                 ตลอดระยะเวลา 140 ปี (พ.ศ.1781-1921) ของสมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า กรุงสุโขทัยทำสงครามกับประเทศอื่นรอบด้าน จึงต้องมีการฝึกทหารให้ชำนาญทั้งการรบด้วยอาวุธ อันได้แก่ ดาบ หอก โล่ ธนู รวมไปถึงการใช้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายช่วยในการรบระยะประชิดตัว เช่น หมัด เท้า เข่า ศอก เตะ โขก ทุ่ม ทุบ ทับ จับหัก ฯลฯ ซึ่งเป็นการต่อสู้อย่างตัวถึงตัวโดยไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบหรือวิธีการ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรบให้สูงขึ้น ชายหนุ่มในสมัยสุโขทัยจึงนิยมฝึกมวยไทยทุกคน สำนักที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ได้แก่ สำนักสมอคอน โดยวิธีฝึกมวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย ครูมวยจะใช้กุศโลบายให้ศิษย์ผ่าฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ก่อนนอนครูมวยจะอบรมศีลธรรมจรรยา และทบทวนท่ามวยต่าง ๆ ให้กับศิษย์

สมัยกรุงศรีอยุธยา
           พ.ศ.1893 - 2310 สมัยนี้มีการถ่ายทอดวิชาการต่างๆมาจากสมัยสุโขทัยอย่างต่อเนื่อง เช่นการล่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆและวัดก็ยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและฝึกความชำนาญในเชิงดาบ กระบี่กระบอง กริช มวยไทย ยิงธนู เป็นต้น

พ.ศ. 2174 - 2233 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับว่าเจริญที่สุดมีกีฬาหลายอย่างในสมัยนี้ เช่น การแข่งเรือ การชกมวย สมัยพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ พระองค์ทรงชอบกีฬาชกมวยมาก ครั้งหนึ่งพระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็ก 4 คน แต่งกายแบบชาวบ้านนอกไปเที่ยวงานมหรสพที่ตำบลราดรวด แล้วพระองค์ก็สมัครชกมวยในงานนั้น ในนามว่า นายเดื่อ โดยไม่เกี่ยงว่าคู่ต่อสู้จะเป็นใคร พอทางสนามรู้ว่าพระองค์เป็นนักมวยมาจากอยุธยาจึงได้จัดนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษไชยชาญที่มีอยู่ ได้แก่ นายกลางหมัดมวย นายใหญ่หมัดเหล็ก นายเล็กหมัดหนัก ชกกับพระเจ้าเสือ และพระองค์ก็ชกชนะทั้งสามคนรวดนายขนมต้ม หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2310 คนไทยถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยมาก ครั้นต่อมามีการจัดงานเฉลิมฉลองพระเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่กรุงร่างกุ้ง 


พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่า ได้สั่งให้จัดมวยหน้าพระที่นั่งขึ้น เพื่อชมนักมวยไทยชกกับนักมวยพม่า ในครั้งนั้น สุกี้ พระนายกองค่ายโพธิ์สามต้น ที่ได้กวาดต้อนนักมวยชาวไทยไว้ที่กรุงอังวะหลายคน รวมทั้งนายขนมต้ม ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์มวยไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้จัดนักมวยพม่าเปรียบกับนักมวยไทย คนไทยในพม่าก็ได้ส่งนายขนมต้มผู้มีรูปร่างล่ำสัน บึกบึน ผิวดำ เข้าไปจับคู่กับนักมวยพม่า กรรมการนำนักมวยไทยออกมากลางลานและประกาศชื่อนายขนมต้มว่าเป็นนักมวยมีชื่อจากกรุงศรีอยุธยา เชลยไทยที่มุงดูพากันโห่ร้องเพื่อเป็นกำลังใจ
นายขนมต้มได้ใช้วิชาศิลปะมวยไทยเข้าต่อสู้สามารถเอาชนะนักมวยพม่าต่อเนื่องได้ถึง10 คน (ตามสำนวนพงศาวดาร) จนไม่มีนักมวยพม่าคนใดกล้าต่อสู้อีก สร้างความประทับใจให้กับพระเจ้ามังระยิ่งนัก ถึงกับตรัสชมเชยว่า " คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า 2 ข้าง ก็ยังมีพิษรอบตัวหากมีเจ้านายดีที่ไหนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่เราได้…"พระเจ้ามังระจึงทรงมอบเงินและภรรยาให้ 2 คน เป็นรางวัล กาลเวลาต่อมานายขนมต้มก็ได้นำเอาสองศรีภรรยาเข้ามาตั้งรกรากในไทยจนถึงบั้นปลายของชีวิต นายขนมต้มจึงเป็นนักมวยเอกคนแรกของไทยที่ได้ไปประกาศฝีไม้ลายมือมวยไทยในต่างแดน และยังเปรียบเสมือนกับเป็นบิดาวิชามวยไทยมาจนเท่าทุกวันนี้อนึ่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มวยไทยชกกันด้วยการคาดเชือก เรียกว่า มวยคาดเชือกซึ่งใช้เชือกหรือผ้าพันมือ บากครั้งการชกอาจจะถึงตาย เพราะเชือกที่ใช้คาดมือนั้นบางครั้งใช้น้ำมันชุบเศษแก้วละเอียด ชกถูกตรงไหนเป็นได้เลือดตรงนั้น นับว่าการชกมวยคาดเชือกนั้นมีอันตรายมากตั้งแต่สมัยอยุธยาลงมา ปรากฏว่ามีกรมนักมวยที่เรียก ทนายเลือก พวกนี้มีหน้าที่แวดล้อมองค์พระมหากษัตริย์คอยป้องกันอันตรายในระยะประชิดพระองค์ โดยไม่ใช้อาวุธอื่นใดนอกจากมือเปล่า กรมนี้มีอยู่ต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์บางองค์ทรงเป็นนักมวยมีฝีมือ เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าเสือ พระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้น

สมัยกรุงธนบุรี
          พ.ศ. 2314 พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย (นายทองดี ฟันขาว) ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี(พระเจ้าตากสิน) ได้โปรดให้ครองเมืองพิชัยอยู่นั้นได้นำทัพออกต่อสู้กับพม่าจนดาบหัก แต่ก็สามารถป้องกันเมืองพิชัยเอาไว้ได้ ประชาชนทั่วไปจึงเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหัก ตั้งแต่นั้นมา

เรื่องของพระยาพิชัยดาบหัก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ก่อนกรุงแตกเป็นยุคสงครามกับพม่า มีหนุ่มชาวบ้านห้วยคาเมืองพิชัย หรืออุตรดิตถ์ ชื่อนายจ้อย หรือ ทองดี ฟันชาว เป็นผู้สนใจในวิชาเพลงมวย เที่ยวเสาะหาวิชาไปตามสำนักต่าง ๆ จนมีฝีมือพอตัว จึงเที่ยวเปรียบหาคูชกจนมีชื่อเสียงโด่งดังและได้ฝากตัวอยู่กับพระยาตาก ซึ่งต่อมาคือพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราชที่ได้ทรงแต่งตั้งนายทองดีไปครองเมืองพิชัยและมีความชอบได้เป็นถึงพระยาพิชัย ในเวลาต่อมาแม้กระทั่งในตระกูลของพระยาพิชัยดาบหัก เมื่อรับราชการมาจนถึงรัชกาลที่ 6 ก็ได้รับพระราชทาน นามสกุลว่า วิชัยขัทคะ แปลว่า ดาบวิเศษของพระยาพิชัย สมัยกรุงธนบุรี มีการเล่นกีฬามวยไทย กระบี่กระบอง แข่งเรือ ว่าว ตะกร้อ หมากรุก ชักคะเย่อ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
          พ.ศ.2325 ในระยะต้น รัชกาลที่ 1 - 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ไทยที่ทรงโปรดการกีฬามาก เช่น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดกีฬามวยไทยอย่างต่อเนื่อง ในสมัยนี้ได้มีฝรั่งสองคนพี่น้องเข้ามาหาคู่ชกมวยชนิดมีเดิมพัน พระองค์ได้จัดส่งหมื่นผลาญนักมวยผู้เก่งกาจขึ้นชกกับฝรั่งสองพี่น้อง แม้หมื่นผลาญจะมีร่างกายเล็กเสียเปรียบฝรั่งมาก แต่ด้วยศิลปะมวยไทย อาวุธหมัด เท้า เข่า ศอก ฝรั่งสองพี่น้องจึงพ่ายแพ้ยับเยินกลับไป สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์หัดเล่นกระบี่กระบอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทยจึงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยขึ้นในชนบทและในกรุง นอกจากนี้ได้ทรงแต่งตั้งผู้มีฝีมือในกีฬามวยให้เป็นหัวหน้าในการจัดกีฬา และให้มียศตำแหน่งด้วย เช่น พระไชยโชคชกชนะ แห่งพระนคร, หมื่นมวยมีชื่อ จากไชยา,หมื่นมวยแม่นหมัด จากลพบุรี, หมื่นชงัด เชิงชก จากโคราช

การจัดการแข่งขันมวยไทย
         การแข่งขันมวยไทยครั้งสมัยโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีกติกาแน่นอนอย่างไรบ้าง ผู้มีอำนาจเด็ดขาด ได้แก่ นายสนามมวย แต่เมื่อมวยสากลได้รับการเผยแพร่เข้ามาครั้งแรก โดยหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล เมื่อ พ.ศ. 2455 ทางวงการมวยไทยจึงได้วางกติกาขึ้น ซึ่งการชกในสมัยนี้ก็ยังคงมีการคาดเชือกกันอยู่ ต่อมาจึงได้สวมนวมชกกัน แต่การชกก็ยังเหมือนเดิม คือยังใช้การถีบ เตะ ชก ศอก เข่า ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันมวยไทยเป็นกีฬาที่เก่าที่สุดของเรา ได้วิวัฒนาการในเรื่องของกติกาและการจัดการแข่งขันมาจนถึงปัจจุบัน โดยย่อ ๆ ดังนี้
พ.ศ. 2477 กระทรวงมหาดไทยได้ร่างกติกาคุ้มครองมวยไทยและมวยสากล เพื่อเป็นการแข่งขันชั่วคราว
พ.ศ.2479 กรมพลศึกษา มีหน้าที่ในการจัดการแข่งขันมวยโดยตรง ได้ตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่งทำการปรับปรุงแก้ไขกติกามวยไทยและมวยสากล และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 เป็นต้นมา และได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2482
การแข่งขันที่เป็นหลักฐานเริ่มอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 6 (ก่อนหน้านี้ขึ้นไปไม่มีหลักฐานที่แน่นอน) ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นสมัยต่าง ๆ ได้ 5 สมัย ดังนี้
         1. สมัยสวนกุหลาบ สมัยนี้ประชาชนนิยมการชกมวย และชมการแข่งขันชกมวยกันเป็นจำนวนมาก การชกมวยไทยในสมัยนี้ยังมีการคาดเชือก (นักมวยสมัยเก่าใช้ด้ายดิบเส้นโตขนาดดินสอดำชุบแป้งให้แข็ง พันมือตั้งแต่สันมือตลอดถึงข้อศอก และพันรัดเป็นปมทางด้านหลังของข้อนิ้วมือหรือสันหมัด เป็นรูปก้นหอย ที่เรียกกันว่า"คาดเชือก") การชกได้กำหนดจำนวนยกไว้แน่นอนแล้ว มีกรรมการชี้ขาด ผู้ตัดสินส่วนมากนั่งอยู่ข้างเวทีและให้อาณัติสัญญาณนักมวยหยุดชกด้วยเสียงหรือนกหวีด

        2. สมัยท่าช้าง ในสมัยนี้เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จากการคาดเชือกมาเป็นสวมนวม (พ.ศ. 2462) สมัยนี้ได้ดำเนินการจัดการแข่งขันมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรในที่สุดสนามก็เลิกไป กรรมการผู้ชี้ขาดที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ก็คือ นายทิม อติเปรมานนท์ และนายนิยม ทองชิตร์

       3. สมัยสวนสนุก การจัดการแข่งขันในสมัยนี้นายสนามดำเนินงานได้ดี และยืนยาวอยู่หลายปี นักมวยที่มีชื่อเสียง เช่น สมาน ดิลกวิลาศ และสมพงศ์ เวชชสิทธิ์ สมัยนี้มีการแข่งขันทั้งมวยไทยและมวยสากล กรรมการผู้ตัดสินที่มีชื่อเสียง ได้แก่ หลวงพิพัฒน์ พลกาย นายสุนทร ทวีสิทธิ์ (ครูกิมเส็ง) และ นายนิยม ทองชิตร์

      4. สมัยหลักเมืองและสวนเจ้าเชษฐ์ การแข่งขันชกมวยในสมัยนี้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะทางราชการทหารเข้ามาร่วมมือช่วยเหลือ และมีผลเป็นรายได้บำรุงกองทัพจำนวนมาก นักมวยที่มีชื่อในยุคนี้ได้แก่
สุข ปราสาทหินพิมาย ผล พระประแดง เพิก สิงหพัลลภ ประเสริฐ ส.ส. ถวัลย์ วงศ์เทเวศน์ และทองใบ
ยนตรกิจ การแข่งขันสมัยนี้ดำเนินมาหลายปีจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจึงได้เลิกไป กรรมการผู้ตัดสินในสมัยนี้ได้แก่ นายสังเวียน หิรัญเลขา นายเจือ จักษุรักษ์ และนายวงศ์ หิรัญเลขา

       5. สมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพีนีเป็นประจำ และยังมีเวทีมวยที่เปิดการแข่งขันถาวรและชั่วคราวทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีกมากมาย
ปัจจุบันมี พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 มีสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย สำนักงานกีฬาอาชีพ ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ ให้มีหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง สนับสนุน และควบคุมกิจการมวยในประเทศไทยให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของวงการมวยเมืองไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น