มวยไชยา( Muay Chaiya ) เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ
ประวัติ : กำเนิดมวยไชยา
มีวัดเก่าแก่อรัญญิกชื่อวัดทุ่งจับช้าง
เป็นวัดรกร้างอยู่ในป่าริมทางด่านเดิมที่จะไปอำเภอไชยา
วัดนี้มีชื่อเสียงเพราะสมภารซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านมา” เป็นชาวกรุงเทพฯได้หลบหนีไปอยู่เมืองไชยาด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏ
“พ่อท่านมา”ได้ฝึกสอนวิชามวยไทยแก่ชาวไชยาจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมวย
แม้ทุกวันนี้นักมวยที่ปรารถนาความสวัสดีมีชัย
ต้องร่ายรำมวยเป็นการถวายคารวะหน้าที่บรรจุศพก่อนที่จะผ่านไป
มวยสุราษฎร์ฯหรือมวยไชยาจึงมีชื่อเสียงตลอดมามวยไทยไชยา จากหลักฐาน และคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยา เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.5 คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย เคยกล่าวไว้ว่า ท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบฯ พ.ศ. 2464 (ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ ปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกครูมวย และครูกระบี่ กระบองผู้กระเดื่องนาม ในรัชสมัย ร.5) และปรมาจารย์ ขุนยี่สานสรรพยากร (ครูแสงดาบ) ครูมวย และครูกระบี่ กระบอง ลือชื่อ ในสมัย ร.6 นั้น มีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของ พ่อท่านมา ครูมวยแห่งเมืองไชยา ท่านนับเป็นต้นสายของมวยไชยา มรดกอันล้ำค่าของคนไทย
การแต่งกายของนักมวย
·
การพันหมัด ที่เรียกว่าหมัดถักนั้นเมื่อผู้ใดได้คู่ชก
ทางฝ่ายจัดรายการ จะแจกด้ายขนาดโตคนละม้วน
เมื่อได้ด้ายดิบแล้วนักมวยก็จะนำด้ายดิบนั้นเข้าพุ่มไปให้พรรคพวกช่วยกันจับเป็นจับๆ
(หนึ่งจับเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย) แล้วตัดออกเป็นท่อนๆยาวประมาณ 4-5 เมตร ชั้นแรกที่จะพันมือจะใช้ผ้าเรียบพันมือก่อน
ชั้นที่สองซึ่งจะพันด้วยด้ายดิบซึ่งพรรคพวกจะขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดเป็นปมอยู่ทั่วไป
แล้วพันด้วยผ้าเรียบ แล้วพันด้วยด้ายที่ถูขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดปม
พันสลับกันเช่นนี้หลายชั้น การพันมือจะพันจนถึงข้อมือเท่านั้นส่วนปลายนิ้วมือจะพันขึ้นไปพอถึงข้อนิ้วแรก
ให้กำหมัดได้สะดวก และขณะที่พันมืออยู่นั้น
จะต้องใช้ปลายนิ้วมือคอยแหย่ไว้ตามช่องนิ้วมือระวังไม่ให้แน่นจนเกินไป
เพราะถ้าแน่นจะทำให้กำหมัดไม่แน่นเวลาชก
ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงนิ้วมือหักในขณะต่อสู้เมื่อชกโดนคู่ต่อสู้จังๆ โดย
นักมวยไชยา จะคาดเชือกแค่บริเวณข้อมือ ส่วนนักมวยสายอื่น ๆ เช่น นักมวยโคราช
จะคาดเชือกถึงบริเวณข้อศอกเพื่อใช้รับอวัยวุธต่างๆของคู่ต่อสู้ และ
นักมวยสายลพบุรีหรือนักมวยภาคกลางอื่นๆเช่น มวยพระนคร จะคาดเชือกถึงบริเวณกลางแขน
·
การพันลูกโปะ (กระจับ) ในการพันลูกโปะจะใช้ผ้าสองผืน
ผืนแรกจะใช้ผ้าขาวม้าก็ได้ หรือผ้าชนิดอื่นที่ยาวพอสมควร
ผืนที่สองจะใช้ผ้าอะไรก็ได้ วิธีพันจะใช้ผ้าผืนแรกต่างเข็มขัด
ปล่อยชายข้างหนึ่งยาวปลายข้างหนึ่งจะผูกเป็นปมหมดชายผ้า ปล่อยข้างยาวลงไปข้างล่าง
ส่วนผืนที่สองจะม้วนเป็นก้อนกลม
(คล้ายม้วนทูนหรือผ้าที่ม้วนรองบนศีรษะขณะทูนของที่ก้นไม่เรียบ)
ใช้ผ้าผืนนี้วางลงทับแทนกระจับ ใช้ชายผ้าที่ปล่อยให้ห้อยลงของผืนแรกคาดทับลงไป
แล้วเต้าชายผ้าส่วนนั้นเข้าระหว่างขาดึงให้ตึงไปผูกชายที่เหลือเข้ากับส่วนที่ผูกแทนเข็มขัดที่ด้านหลัง
·
ประเจียด เป็นเครื่องสวมศีรษะลักษณะเฉพาะของนักมวยไชยา
ส่วนนักมวยภาคอื่นจะสวม"มงคล"แทน ประเจียดนั้นจะทำเป็นลักษณะแบนๆมากกว่าทำให้กลมมีการลงคาถาอาคม
ลงเครื่องป้องกันต่างๆ ขณะชกถ้าประเจียดหลุดก็ยกมือขอเก็บมาสวมเสียใหม่ได้
วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง
ก็คือการป้องกันมิให้เส้นผมลงปิดหน้าในขณะที่กำลังทำการต่อสู้
กติกา
สำหรับในการต่อสู้ใช้แม่ไม้มวยไทยได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น
หมัด เท้า เข่า ศอกในการต่อสู้ใช้จำนวนยก 5 ยก และใช้ยกเวียน
หมายความว่าวันนั้นจับมวยได้กี่คู่ (ส่วนใหญ่ 5 – 6 คู่)
ก็จะชกกันคู่ละ หนึ่งยก โดยคู่ที่ 1 ชกยกที่ 1 ก็เข้าพุ่ม (ที่สำหรับพักนักมวย) คู่ที่ 2 ขึ้นชกยกที่
1 และยกที่ 1 จนไปถึงคู่สุดท้าย คู่ที่
1 จึงจะชกยกที่ 2 แล้วเวียนไปจนถึงคู่สุดท้าย
คู่ที่ 1 จึงขึ้นชกยกที่ 3การชกจะปฏิบัติเช่นนี้จนครบ
5 ยก แต่ถ้ามีคู่ใดแพ้ชนะก่อนกันก็ตัดคู่นั้นไป
ส่วนที่เหลือก็จะเวียนไปดังที่กล่าวมาแล้ว กติกาการหมดยกมี 2 แบบคือ
แบบที่ 1 เมื่อมีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ
ไม่สามารถป้องกันตัวได้ ก็ยกมือขอบอกเวลาหมดยก เพื่อเข้าพุ่มแก้ไขอาการที่เพลี่ยงพล้ำนั้น
และคำว่า “ยก”ที่ใช้กันในทุกวันนี้ก็น่าจะมีความเป็นมาจากอาการที่ยกมือดังกล่าวแล้วก็อาจเป็นได้
แบบที่ 2 ในขณะชกเขาจะใช้ลูกลอยเจาะก้นลอยน้ำแบบที่ใช้ในการชนไก่แต่เดิม
เมื่อลูกลอยจมน้ำเจ้าหน้าที่ก็จะตีกลองบอกหมดยก เพื่อให้คู่ต่อสู้ได้เข้าพุ่มเพื่อแก้ไข
ให้น้ำและแนะนำการแก้ลูกไม้มวยส่วนคู่ต่อไปก็จะขึ้นชกกันต่อไป
สำหรับดนตรีที่ใช้มีปี่และกลองยาวประโคมก่อนและขณะทำการต่อสู้
ทุ่ม-ทับ-จับ-หัก ในมวยคาดเชือก
ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง
ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน
การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์พร้อมฝึกฝนท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก'ท่าครู'รวมทั้งแม่ไม้ต่าง ๆ เช่นการออกอาวุธ
ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ให้เชี่ยวชาญดีแล้ว จึงจะสามารถแตกแม่ไม้กล ลูกไม้
กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไป
จึงจะเกิดความคม เด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ
เช่นท่าครูมวยไชยา(ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์)นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุมเฉียบคม
จนสามารถชนะการแข่งหน้าพระที่นั่งสมัย ร.5 เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ ทุ่งพระเมรุ
ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ คือ นายปล่อง จำนงทอง ที่สามารถใช้ 'ท่าเสือลากหาง' โจนเข้าจับ
ทุ่มทับจับหักปรปักษ์จนมีชัย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 'หมื่นมวยมีชื่อ'
ท่าที่ใช้จับทุ่มรับการจู่โจมด้วย เตะ ถีบ เข่า อย่าง ' ถอนยวง' นั้น สามารถทุ่มโยนปรปักษ์ออกไป
หรีบจับกดหัวให้ปักพื้นแล้วทับด้วยก้นหรือเข่าได้
หากเป็นการรุกด้วยหมัดนั้นให้แก้ด้วย ' ขุนยักษ์พานาง'
หรือ 'ขุนยักษ์จับลิง' ศอกแก้ด้วย
'พระรามหักศร' และยังมีท่าอื่น ๆ
อีกมาก ที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านมิได้กำหนดชื่อเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จำต้องรู้เคล็ดป้องปัดปิดเปิด
และกลประกบประกับจับรั้ง เป็นท่าร่วมเพื่อเข้าจับหักด้วยมือ
หรือเกี้ยวกวัดด้วยท่อนแขน ฯลฯ เวทีชกมวย
การชกมวยไชยา ในยุคแรกชกที่ศาลาเก้าห้อง โดยที่ศาลาเก้าห้องมีบริเวณที่ชกมวยก็คือสนามหน้าศาลา
จะมีเจ้าหน้าที่ปักหลักสี่หลักแล้วใช้เชือกป่านขนาดใหญ่(เชือกพวน)ขึงกับหลักสามสี่สาย
โดยในศาลาจะมีเจ้านาย
และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆของเมืองไชยาจะพักอยู่ในศาลาเพื่อชมการชกมวยทุกครั้งไป
เวทีมวยวัดพระบรมธาตุไชยา
เมื่อการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องต้องมีอันล้มเลิก
เนื่องมาจากศาลากลางถูกย้ายไปอยู่ที่บ้านดอน
พระยาไชยาก็ไปเป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอนดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นรวมทั้งได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาไว้ที่อำเภอไชยาในปัจจุบันก็เกิดสนามมวยแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณสนามวัดพระบรมธาตุ
เพราะในสมัยนั้นวัดพระบรมธาตุมีงานประจำปีในเดือน 6 ของทุกปี
การจัดให้มีการชกมวยก็ขึ้นที่สนามแห่งนี้ด้วย
โดยครั้งแรกชกบนลานดินเหมือนที่ศาลาเก้าห้อง
ที่ตั้งสนามอยู่ระหว่างพระเวียนกับถนนที่ตัดผ่านหน้าวัด
ซึ่งถนนที่ผ่านทุกวันนี้แต่สมัยนั้นยังไม่มีกำแพงแก้วเหมือนปัจจุบัน
การชกและกติกาก็เหมือนที่ศาลาเก้าห้องทุกประการ
จะต่างกันที่สนามวัดพระบรมธาตุมีการเก็บเงิน โดยใช้ปีกเหยี่ยว (ใบตาลโตนดผ่าซีกแล้วแล้วโน้มมาผูกติดกับก้านใบ)
กั้นเป็นบริเวณสนามและเนื่องจากกีฬามวยเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไป
พระครุโสภณเจตสิการา (เอี่ยม) เห็นว่ามีหนทางที่จะเก็บเงินเป็นรายได้บำรุงวัด
จึงดำริคิดสร้างเวทีมวยถาวรขึ้นที่สนามมวยแห่งนี้ โดยให้นายภักดิ์ ลำดับวงค์
เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง นายจอน แสงสิทธิ์ เป็นนายช่าง นายร่วง เชิงสมอ
เป็นลูกมือช่าง และสร้างเสร็จในปี 2474 โดยท่านพระครูโสภณเจตสิการามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ทั้งสิ้น ประมาณ 500 บาท
เวทีใหม่แห่งนี้ใช้ทางเหนือของสถานที่เดิมไปเล็กน้อย
โดยเลื่อนใกล้ถนนเข้าไปอีก ลักษณะของเวที เป็นเสาปูนซีเมนต์เสริมเหล็กหน้า 8 นิ้ว จำนวน 4 ต้นกว้างและยาวด้านละ
4 วา เทคอนกรีตเท่าหน้าเสาทั้ง 4 ด้าน
สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ตรงกลางถมดิน เสาสูง 6 ศอก หลังคามุงสังกะสี ไม้ที่ใช้เป็นไม้หลุมพอโดยตลอดเฉพาะเครื่องทำหลังคา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น