ภาพการตีมวย
ที่สนามมวยสวนกุหลาบ ในภาพคือ นายยัง หาญทะเล คาดเชือกแบบมวยโคราช
ส่วนกางเกงสีเข้ม ถ้าเดาไม่พลาด น่าจะเป็น นายไล่โฮ้ว นักมวยจีนที่มาฝึกกับ
ครูสุนทร(กิมเส็ง) ทวีสิทธิ์ ครับ
จะเห็นได้ว่า ไม่มีเชือกขึงเวทีนะครับ
จะเห็นได้ว่า ไม่มีเชือกขึงเวทีนะครับ
การรูดเชือก
มีแต่มวยไทยเวทีสมัยนี้ครับ เพราะสมัยก่อนตีมวยกันบนลานดินธรรมดา
พอมายุคสนามมวยสวนกุหลาบ ราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ คราวระดมเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า ถึงเริ่มมีการสร้างเวทีขึ้นมา
แต่ก็ไม่มีเชือกขึงแต่อย่างใด เชือกขึงจริง ๆ
มีในสมัยเริ่มมีสนามมวยอย่างตะวันตก คือสนามมวยราชดำเนินครับ
มวยไทยโคราช มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เพราะชาวไทยมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธสั้นประกอบกับศิลปะมวยไทย
โดยมีเป้าหมายในการปกป้องประเทศชาติ
อีกทั้งโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอกที่ต้องทำการรบกับผู้รุกรานอยู่เสมอ
จึงทำให้ชาวโคราชมีความเป็นนักสู้โดยสายเลือดมาหลายชั่วอายุคน เมื่อบ้านเมืองสงบ
มวยไทยจึงพัฒนามาเป็นศิลปะวัฒนธรรมทางการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย
ด้วยเหตุเพราะคนไทยในสมัยโบราณ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ลงมาจนถึงพลเมือง
ทั้งชายและหญิงต้องฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวให้เจนจัด ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นห้วงเวลาที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีการจัดแข่งขันมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่ง ณ
บริเวณหน้าพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน
ในงาน..พของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ. 2452) โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศคัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้าแข่งขัน
นักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ
พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ เป็น “ขุนหมื่นครูมวย” ถือศักดินา 300 จำนวน 3 คน คือ
นายปรง จำนงทอง จากเมืองไชยา เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” นายกลึง โตสะอาด จากเมืองลพบุรี เป็น “หมื่นมือแม่นหมัด”
และนักมวยจากเมืองโคราช นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร
เจ้าเมืองโคราชเป็น “หมื่นชงัดเชิงชก” นอกนั้นยังมีนักมวยจากเมืองโคราชอีกหลายคนที่มีฝีมือดีเยี่ยมจนมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศที่เดินทางเข้าไปฝึกซ้อมมวยกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ณ วังเปรมประชากร เช่นนายทับ จำเกาะ นายยัง หาญทะเล นายบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา)
นายตู้ ไทยประเสริฐ นายพูน ศักดา
มวยโคราช จังหวัดโคราช อดีตเป็นหัวเมืองภาคอิสาน ของอาณาจักรอยุธยา
วิธีฝึกมวยสายโคราชโดยอาศัยธรรมชาติในสมัยโบราณ
อาศัยเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เข้ามาช่วยในการฝึกผสมผสานกันไป เช่น ตักน้ำ กระเดียดน้ำ ตำข้าว ผ่าฟืน ปีนต้นมะพร้าว ปีนต้นหมาก ฝึกประสาทส่วนต่าง ๆ ให้ตื่นตัวอยู่เสมอ วิ่งไปตามท้องไร่ท้องนา นอนเกลือกกลิ้งบนหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะในยามเช้า นั่งขัดสมาธิใช้ดวงตาเพ่งมองไปยังดวงอาทิตย์ตอนเช้ามืดโดย ไม่กระพริบตา วิ่งตามชายหาดแม่น้ำ วิ่งในน้ำตื้นมองตามเท้าโดยกระแทกเท้าให้มองเห็นพื้นทุกก้าว วิ่งลุยน้ำลึกเท่าที่จะลึกได้ ใช้มือซ้าย ขวาสับน้ำให้กระเด็นเข้าตาโดยลืมตาสู้น้ำ การฝึกทักษะการปั้นหมัด การยืน การชกต่อย การศอก การเข่า การเตะ ใช้ผ้าขาวม้าพันหมัดทั้งสองหมัดพาดผ่านคอด้านหลัง ยกหมัดตั้งท่า และเคลื่อนที่ก้าวเท้าพร้อมกับ เคลื่อนหมัดขึ้นลงตามท่าที่ครูมวยสอน ใช้ผ้าขาวม้าพันมือชกกับคู่ ใช้ลูกมะนาว 10 ลูกผูกกับด้ายแขวนห้อยกับราวไม้รวกให้ต่อยและศอกโดยไม่ให้ลูกมะนาวหลุด ไม่ให้ด้ายพันกันและไม่ให้ลูกมะนาวถูกหน้า ใช้ต้นกล้วยตัดเป็นท่อนมาตั้งไว้แล้วให้นักมวยฝึกเตะ ฝึกตีเข่า โดยไม่ให้ต้นกล้วยล้ม จับคู่กอดปล้ำ ฟันศอก ตีเข่า ต้องฝึกหัดด้วยความยากลำบากและใช้เวลานานหลายปี โดยทั่วไปจะใช้เวลาฝึกประมาณ 3 ปี ครูเอาใจใส่สั่งสอนตั้งแต่ขั้นต้น ไม่มีการเรียนลัด สถานที่ฝึกนิยมตามราชสำนัก วัด บ้านครูมวย และสำนักมวยต่าง ๆ
มวยโคราช ครูมวยประดิษฐ์ท่ามวยเก่ง และแก้ไขทางมวยของสำนักอื่นได้ดีจึงทำให้มีชื่อเสียง การคิดค้นหาวิธีแก้ทางมวยซึ่งกัน และกัน ทำให้วงการมวยโคราชโบราณมีความเจริญรุ่งเรือง ครูมวยโคราชมีวิธีแก้ไขทางมวยด้วยวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบา และเสริมจากเบาให้ทวีเป็นความหนักหน่วงและรุนแรงได้ เรียกว่า “วิธีผสมแรง” และ “วิธีถ่ายแรง” นักมวยที่ดีจะต้องมีความคิด รู้จักการแลกใช้ส่วนหนาแลกส่วนบาง เขาแรงมา ทำให้ทุเลาหรือตอบโต้ให้รุนแรงได้ การแต่งกายและการพันมือแบบคาดเชือกนั้น ครูมวยไทยโคราชใช้ด้ายดิบแช่น้ำข้าว ทำให้แข็ง พันไว้ที่มือเรียกกันว่า “ คาดเชือก” เพื่อป้องกันการเคล็ด ยอก ซ้น และเสริมให้หมัดแข็ง ด้ายดิบจะผูกเป็นไจเส้นโตเท่าดินสอดำยาวประมาณ 20 – 25 เมตร
สวมกางเกงขาสั้นและใช้ผ้าขาวม้าม้วนผูกเป็นนวมทับอย่างแน่นหนาป้องกันลูกอัณฑะปกคลุมมาจนถึงบั้นเอว ไม่สวมเสื้อ ปลายเท้าเปลือยเปล่า ต่อมาได้ทำเป็นเบาะรูป 3 เหลี่ยม ใช้เชือกผูกชายมุมทั้ง 3 มุม ใช้แทนกระจับ มีผ้าประเจียดมัดไว้ที่ต้นแขนซ้ายและขวา สวมมงคลตลอดเวลาที่ชก เพราะมงคลถือเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่ง บางทีมงคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหล่นจากศีรษะ ทั้งสองฝ่ายจะหยุดชก เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มงคลหล่นเก็บขึ้นมาใส่ใหม่
ท่ารำมวยโดยทั่ว ๆ ไปมีท่าย่างสามขุม และท่าพรหมสี่หน้า ซึ่งจะต้องปฏิบัติก่อนการชกทุกครั้งจนถือเป็นประเพณี ส่วนรูปแบบวิธีการชกและท่าทางการต่อสู้ป้องกันตัวของนักมวยโคราชนั้น การจดมวยนิยมจดมวยทางหนา ทิ้งเท้าเข่างอเล็กน้อย ลำตัวหันเข้าหาคู่ต่อสู้เต็มตัว น้ำหนัก
อยู่ที่เท้าหน้า ส้นเท้าหลังเขย่ง เท้าไหนออกหน้าหมัดข้างนั้นจะต้องจดอยู่ด้านหน้า มีท่าทางจดมวยแบบเหยียดขาเขย่งบนปลายเท้า เตะได้รุนแรงและอันตรายที่เรียกว่าเตะคอขาด มีความสง่างามน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง การรุกเข้าออก โดยใช้ท่าเท้า ทำให้ผู้ที่ฝึกจนชำนาญสามารถใช้วิธีถ่ายแรงคู่ต่อสู้ที่ใช้อาวุธมาให้ผ่อนจากหนักเป็นเบาได้ และสามารถใช้วิธีผสมแรง เมื่อคู่ต่อสู้เข้าทำ ทำให้เกิดแรงบวก ทำให้ใช้อาวุธได้หนักหน่วงและรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วยังสามารถออกอาวุธยืดหยุ่นโดยผสมท่าเท้า รั้งเข้า รั้งออก ได้ดังใจปรารถนาอีกด้วย ครูมวยไทยโคราชโบราณเรียกวิธีรั้งเข้า ออก นี้ว่า “สำรอกกลับ” ซึ่งลักษณะการใช้ทำให้คู่ต่อสู้หลงคิดว่าเสียหลักถลำตัวไปแล้วก็จะเข้าซ้ำเติม ก็จะถูกใช้วิชาสำรอกกลับนี้โดยไม่ได้คาดคิด เกิดการเพลี่ยงพล้ำ ฉะนั้น การรำมวยประกอบท่าเท้าย่างสามขุมจึงสำคัญและเป็นท่าแม่บทเบื้องต้นของมวยสายโคราช ผู้จะศึกษาต้องฝึกให้เกิดความชำนาญเสียก่อน เพื่อจะได้เป็นรากฐานทางมวย ที่ดีและมีความสามารถ การจดมวยควรปฏิบัติให้เกิดความคล่องทั้ง 2 เหลี่ยม คือ จดมวยเหลี่ยมขวา และจดมวยเหลี่ยมซ้าย
ในด้านเอกลักษณ์ของมวยไทยโคราชที่พิเศษที่แตกต่างไปจากมวยภาคอื่น ๆ คือการพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะทางมวยไทยโคราช เป็นมวยต่อย เตะวงกว้างและใช้ “หมัดเหวี่ยงควาย” การพันเชือกเช่นนี้เป็นการป้องกันเตะ ต่อยได้ดี เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุม และฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า
วิธีจัดการชกมวย นิยมจัดชกในงานวัด จัดที่ลานวัด การเปรียบมวยให้ทหารตีฆ้อง ไปตามหมู่บ้านแล้วร้องบอกให้ทราบไปทั่วกัน เมื่อเปรียบได้แล้วให้นักมวยชกประลองฝีมือกันก่อน ไม่มีการชั่งน้ำหนัก ตัวเล็กตัวใหญ่ไม่สำคัญ หากฝีมือทัดเทียมกันก็ให้ชก แล้วนัดวันมาชก ในการเปรียบมวยไม่มีกฎกติกาที่แน่นอน หากพอใจก็ชกกันได้ รางวัลการแข่งขันเป็นสิ่งของเงินทองแต่ก็ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับฝีมือ ใครชกดีก็ได้รางวัลมากคนละหลายชั่ง คู่ใดที่ชกไม่ดี จะจ่ายเพียง 1 บาท ให้ไปแบ่งกัน คนละ 2 สลึง ถ้าคู่ใดชกได้ดุเดือดก็จะได้เงินรางวัลเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากเป็นการชกหน้าพระที่นั่งรางวัลที่ได้รับก็จะเป็นหัวเสือและสร้อยเงิน
การแบ่งยุคของมวยไทยโคราชออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
1) มวยไทยโคราชยุคเริ่มต้น (สมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4) คุณหญิงโม ได้นำชาวเมืองโคราชเข้าต่อสู้กับกองทัพทหารของเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งยกทัพมากวาดต้อนพลเมืองชาวโคราชไปเวียงจันทร์ จนได้รับชัยชนะที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ต่อมาคุณหญิงโมได้รับการปูนบำเหน็จให้สถาปนาเป็น “ท้าวสุรนารี”
2) มวยไทยโคราชยุครุ่งเรือง (รัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 6) เป็นยุคที่มวยไทยโคราชและมวยไทยภาคอื่นๆ ซึ่งชกกันในแบบคาดเชือกเจริญพัฒนารุ่งเรืองสูงสุด มีนักมวยฝีมือดีจากเมืองโคราชลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช เดินทางเข้าไปฝึกซ้อมอยู่ที่วังเปรมประชากรของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์หลายคน เป็นที่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพร รวมถึงประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่งจนหาคู่ชกแทบไม่มี
3) มวยไทยโคราชยุคเริ่มต้นสวมนวม (รัชกาลที่ 6 – รัชกาลที่ 8) มีการนำเอานวมสวมชกแทนการคาดเชือก มีนักมวยจากนครราชสีมาเดินทางไปชกในกรุงเทพฯหลายคนมีการสอนมวยไทยโคราชในโรงเรียนนายร้อย จปร. มีคณะมวยเกิดขึ้นหลายคณะเช่น เทียมกำแหง อุดมศักดิ์ แขวงมีชัย สิงหพัลลภ สินสุวรรณ ลูกโนนไทย ฯลฯ
4) มวยไทยโคราชยุคฟื้นฟูอนุรักษ์ (รัชกาล ที่ 9 – ปัจจุบัน) ไม่มีการฝึกหัดศิลปะมวยไทยโคราชแบบคาดเชือกในสมัยโบราณในเขตพื้นที่เมืองโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ทั้งๆที่ในสมัยโบราณนั้นมวยสายโคราชมีความเก่งกล้าสามารถเป็นเลิศ แต่เป็นยุคที่มีเวทีจัดการแข่งขันมวยไทยอยู่ทุกหนทุกแห่งโดยทั่วไป การฝึกซ้อมและการจัดแข่งขันเน้นไปในทางธุรกิจเป็นสำคัญมากกว่าที่จะเน้นใน
ด้านศิลปะแม่ไม้มวยไทยโคราชคาดเชือก แต่ยังมีลูกศิษย์ครูบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา) ที่ได้รับต้นฉบับตำรามวยไทยโคราช ซึ่งเขียนด้วยลายมือครูบัว คือ พ.อ.อำนาจ พุกศรีสุข ทำการถ่ายทอดศิลปะมวยไทยโคราชให้กับผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอด อยู่ที่สถาบันสยามยุทธ กรุงเทพฯ และนายเช้า วาทโยธา ลูกศิษย์ของ พ.อ.อำนาจ พุกศรีสุข ทำการฝึกหัดอยู่ที่โรงเรียนบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ทุกวัน
มวยโคราช มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากมวยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมวยไชยา มวยลพบุรี มวยท่าเสา หรือแม้กระทั่งมวยพระนคร ด้วยเหตุที่เมืองโคราชมักถูกข้าศึกรุกรานข่มเหงอยู่เนืองๆ ไม่ได้ว่างเว้นจากศึกสงคราม ทำให้ต้องเป็นนักรบ ซึ่งนักรบต้องฝึกฝนมวยไทยเพื่อนำไปเป็นองค์ประกอบประกอบกับการต่อสู้ด้วยอาวุธไทยโบราณชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบี่ กระบอง พลอง ง้าว แหลน หลาว ไม้สั้น มีด เคียว หอก ดาบ จอบ เสียม ฯลฯ ซึ่งเป็นอาวุธสั้นต่อสู้ในระยะประชิดตัวทั้งสิ้น และต้องใช้ศิลปะมวยไทยเข้าประกอบจึงจะเกิดอานุภาพในการรบได้ดี
แม่ไม้มวยไทยตำหรับโคราช
หมัดเป็นอวัยวะและอาวุธที่สำคัญยิ่ง ส่วนเท้าเป็นอาวุธยาวที่ใช้ในการเตะ ถีบ
และใช้เคลื่อนไหวไปมา การถีบแบบมวยโคราชนั้นคือท่าถีบสลัดซึ่งเป็น
ท่าถีบแบบโบราณที่ใช้เป็นอาวุธทำลายเกราะป้องกันของคู่ต่อสู้ได้
ส่วนเข่าฝึกให้โยนได้ทั้งซ้ายและขวาและศอกเป็นอาวุธสั้นที่ใช้ในระยะประชิดตัวที่ทรงอนุภาพมาก
ศอกใช้ตีและถอง
เกี่ยวกับท่ารำมวยโคราช โดยทั่วๆไปนั้นมีท่าย่างสามขุม และท่าพรหมสี่หน้า
ครูมวยจะกำหนดให้ผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ได้ฝึกหัดท่ารำมวยให้คล่องแคล่วเสียก่อน
จึงจะค่อยฝึกท่าลูกไม้และแม่ไม้สำคัญเป็นประการต่อไป ท่ารำมวยย่างสามขุม
นอกจากจะเป็นท่ารำมวยอันเป็นต้นแบบของตำรามวยไทยสายโคราชแล้ว
ยังเป็นวิชาท่าเท้าแม่บทที่สำคัญ
จะทำให้ผู้ฝึกเคลื่อนไหวไปมาโดยสัมพันธ์กับร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว
ผู้ฝึกเมื่อทำได้จนเกิดความชำนาญแล้ว จะสามารถใช้อาวุธเช่นหมัด เท้า เข่า ศอก ฯลฯ
ได้ทั้งทางซ้ายและทางขวา การเข้า ออก ของทางมวยโคราชนั้นจะเข้าออกในลักษณะฉากซ้าย
และฉากขวา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น