ศาลาเก้าห้อง
หลังจากที่กำเนิดมวยไชยาขึ้นแล้ว กิจการด้านนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับการชกมวยจึงเป็นกีฬาสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับเทศกาล, งานฉลองหรือสมโภชต่างๆ และมาเจริญสูงสุดครั้งหนึ่ง คือ ในสมัยศาลาเก้าห้องพระยาวจีสัตยารักษ์
ศาลาเก้าห้อง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลพุมเรียง สร้างโดยพระยาวจีสัตยารักษ์ สร้างขึ้นเป็นสาธารณสมบัติศาลานี้สร้างขนานกับทางเดิน (ทางด่าน) มีเสาไม้ตำเสา 30 ต้น เสาด้านหน้าเป็นเหลี่ยม แถวกลางและแถวหลังเป็นเสากลม ระหว่างเสาสองแถวหลังยกเป็นพื้นปูกระดานสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร ส่วนระหว่างแถวหน้ากับแถวกลางเป็นพื้นดิน ยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ยาวประมาณ 13 วา 2 ศอก ส่วนกว้างประมาณ 3 วา หลังคาลิลา มุงสังกะสี มีบ่อน้ำทางทิศตะวันตก 1 บ่อ
ปัจจุบันศาลาเก้าห้องเดิมได้ถูกรื้อถอนโดยนายจอน ศรียาภัย ลูกคนที่สามของพระยาวจีสัตยารักษ์ เมื่อออกจากราชการกรมราชทัณฑ์ และกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ ไชยายังคงเหลือไว้แต่เพียงบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมกรุด้วยไม้กระดาน และต่อมาราษฎรได้ช่วยกันสละทรัพย์หล่อซีเมนต์เสร็จ เมื่อปี 2471 และสร้างศาลาใหม่ขึ้นที่ด้านตะวันออกของศาลาเดิมแต่มีขนาดเล็กกว่ายังคงมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน
นอกจากจะใช้เป็นที่พักคนเดินทางแล้ว ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ยังใช้เป็นที่สมโภชพระพุทธรูป เนื่องในงานแห่พระพุทธทางบกในเดือน 11 ของทุกปีประจำเมืองไชยา อีกด้วย และในงานแห่พระพุทธรูปทางบกและงานสมโภชนี้ ที่ขาดไม่ได้คือการชกมวยเป็นการสมโภชเป็นประจำทุกปีด้วย
การชกมวยที่ศาลาเก้าห้อง
เมื่อถึงเทศกาลแห่พระบกประจำปี จะมีการแห่พระมาที่ศาลาเก้าห้องและทำการสมโภชที่นั่น ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเจ้านายก็ไปพร้อมกันที่ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ ในการนี้นักมวยของแต่ละแห่งก็จะเดินทางเพื่อจับคู่ชกกัน เมื่อการแห่พระพุทธรูปมาถึง ศาลาเก้าห้อง ก็เริ่มพิธีสมโภช ครั้นเวลานักมวยจะไปชุมนุมกันหน้าศาลา โดยมีพระยาไชยา เป็นประธาน การจับคู่มวยในสมัยนั้นไม่มีการชั่งน้ำหนักเพียงแต่ให้รูปร่างพอฟัดพอเหวี่ยงกันก็เป็นการใช้ได้ หรือถ้ารูปร่างต่างกันมาก ก็ต้องแล้วแต่ความสมัครใจของคู่ต่อสู้ เพราะคนสมัยก่อนไม่เหมือนกับคนสมัยนี้ บางคนโกรธกันก็ถือเอาโอกาสนี้มาต่อสู้กันตัวต่อตัวต่อหน้าประธาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น